ช่วงนี้เป็นหน้าร้อนแต่ก็กลับมีพายุฤดูร้อนเข้ามาด้วย ทำให้บางทีที่แดดออกแต่อยู่ๆเมฆมืดมาแล้วฝนก็ตกเลยซะงั้น สำหรับคนที่กำลังถ่ายรูปกลางแจ้งก็อาจจะเตรียมตัวรับฝนกันไม่ทันเลยทีเดียว ในสถานการณ์แบบนี้เราก็ควรมีวิธีการเตรียมตัวป้องกันและ ดูแลกล้องในหน้าฝน ทั้งการรับมือฉุกเฉินแล้วก็วางแผนรับมือล่วงหน้า ลองมาดูวิธีกันเลยครับ
- ทำความรู้จักกล้องและเลนส์ อย่างแรกเลยเราต้องทำความรู้จักอุปกรณ์กล้องทุกชิ้นของเราให้ได้ก่อน สำคัญมากๆ เราจะได้ถึงลิมิตการป้องกันสภาพอากาศได้ และทำให้ดูแลป้องกันอุปกรณ์ได้อย่างถูกต้อง กล้องบางรุ่นอาจจะกันละอองฝนได้ บางรุ่นกันน้ำได้ แต่ถ้าเลนส์ที่เราใช้กันละอองฝนหรือน้ำไม่ได้ แล้วยังดั้นด้นลุยใช้กล้องติดเลนส์ตัวนี้ไปก็เท่านั้นครับ เลนส์พังซะก่อน ถ้ามั่นใจแล้วว่าทั้งกล้องและเลนส์เราสามารถกันละอองฝนได้ ก็ลุยได้เลยครับ แต่ก็อย่าให้เกินลิมิตตามที่สเปคกล้องกับเลนส์บอกมา แต่ทางที่ดีแนะนำว่าถ้าจะลุยน้ำลุยฝนอะไรก็ไว้เวลาฉุกเฉินดีกว่า
- ทำความรู้จักอุปกรณ์อื่นๆ นอกจากกล้องและเลนส์แล้ว อุปกรณ์อื่นๆก็สำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นฟิลเตอร์ แฟลช พวกทริกเกอร์ ฯลฯ เราก็ต้องทำความรู้จักลิมิตของอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย อย่างตัวเลนส์ฮู้ดนอกจากกันแสงแดดลอดผ่านก็ยังกันละอองฝนได้เหมือนกัน หยิบมาใช้ตอนถ่ายรูปแล้วฝนตกเบาๆได้เลย อุปกรณ์พวกนี้หลังจากใช้งานก็เก็บรักษาด้วยวิธีเดียวกับกล้องและเลนส์
- กระเป๋าและอุปกรณ์ห่อหุ้ม กระเป๋ากล้องส่วนมากมักจะเคลือบกันละอองน้ำฝนมาแต่แรก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะกันฝนที่ตกหนักๆได้ ถ้ายืนแช่ฝนนานๆน้ำก็ซึมเข้าตามซิปตามตะเข็บได้เหมือนกัน กระเป๋าบางรุ่นอาจจะกันน้ำได้มากหน่อย ขึ้นอยู่กับการดีไซน์ของแต่ละแบรนด์ ซึ่งถ้ากันน้ำได้ก็จะมีราคาที่สูงกว่าปกติ ถ้ามีกระเป๋ากล้องรุ่นปกติที่กันน้ำไม่ได้อยู่แล้ว เราสามารถใช้อุปกรณ์เสริมจำพวกสเปรย์ฉีดเคลือบกันน้ำ หรือ ผ้าคลุมกันฝน มาเป็นออปชั่นได้ทำให้ประหยัดไปได้เยอะ หลังจากป้องกันที่กระเป๋าภายนอกแล้ว ภายในก็ควรหาพวกกระบอกใส่เลนส์หรือถุงห่อหุ้มกล้องมาใช้อีกชั้น แบบนี้ก็จะดูแลกล้องในหน้าฝนได้ดีมากขึ้นครับ
- พกอุปกรณ์กันฝนแบบฉุกเฉินไว้บ้าง พวกถุงพลาสติก เสื้อกันฝน หรือร่ม สามารถใช้กันฝนได้เหมือนกัน ถ้าฝนตกไม่หนักมากเราก็สามารถตั้งกล้องแล้วยืนกางร่มคุมไปด้วยก็ได้ ถุงพลาสติกที่ได้จากการซื้อของตามร้านค้าก็เก็บไว้เผื่อฉุกเฉินได้ด้วย หรือถ้าอยากให้กันน้ำได้มากกว่านี้ก็แนะนำให้ใช้ตัวพลาสติกกันน้ำที่ออกแบบมาสำหรับการถ่ายภาพโดยเฉพาะ มีช่องให้เอามือสอด มีช่องที่ทำมาพอดีกับเลนส์
- เช็ดหลังจากใช้งาน ไม่ว่าจะไปลุยฝนหรือไม่ได้ลุยก็แนะนำให้เช็ดกล้องและอุปกรณ์หลังจากการใช้งานทุกครั้ง เพื่อให้กล้องแห้งจากความชื้นที่มาจากฝน หรืออาจจะมาจากเหงื่อของผู้ใช้ ยิ่งถ้าเอาไปใช้ริมทะเลก็ควรเช็ดหลังจากใช้ทุกครั้ง เพราะอากาศบริเวณทะเลจะมีไอเกลือมากกว่าปกติ มีผลต่อการกัดกร่อนอุปกรณ์แน่นอน
- เก็บกล้องในกล่องกันชื้น แบบระบบปิด พร้อมทั้งใส่ซิลิกาเจลดูดความชืิ้น ควรจะมี Hygrometer ใส่ไว้ในกล่องด้วย เพื่อตรวจสอบค่า % ความชื้น (RH, Relative Humidity) ค่าปกติทั่วๆไปควรจะอยู่ที่ 35-45 RH แต่ถ้าสถานที่ๆเก็บกล้องไม่ได้เป็นเมืองที่ฝนตกชุกตลอดปีจนมีความชื้นสูง ก็แนะนำให้วางกล้องและอุปกรณ์ทั้งหลายไว้ในที่อุณหภูมิห้อง ที่โล่งมีอากาศถ่ายเทง่าย แค่นี้ก็พอแล้วครับ ถ้าเก็บไว้ในกล่องกันชิ้นต้องมาคอยตรวจเช็คค่าความชื้นเรื่อยๆ รวมถึงถ้าเก็บไว้นานเกินจนแห้งมากก็จะมีผลต่อพวกชิ้นส่วนที่เป็นยางได้ครับ สำหรับใครที่พกพาซิลิกาเจลติดกระเป๋ากล้องไว้ก็ควรหาซองซิปล็อคมาใช้ด้วยครับ เพราะซิลิกาเจลมันต้องใช้กับระบบปิดที่ไม่มีอากาศไหลเข้าออก ถ้าใช้ในกระเป๋ากล้องทั่วไปที่มีการถ่ายเทของอากาศได้ก็ไร้ประโยชน์อยู่ดีครับ
- ตรวจเช็คอุปกรณ์ทุกส่วนทั้งก่อนใช้และหลังใช้ ไม่ว่าจะเป็นช่องพอร์ตต่างๆ, ขอบยาง, View Finder, Hot shoe, สายคล้องคอ รวมถึงเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ เช็คให้ดีๆครับ ทุกอย่างมีผลต่อการดูแลกล้องในหน้าฝนทั้งสิ้น กล้องกันน้ำแต่ยางปิดพอร์ทปิดไม่สนิท แบบนี้น้ำก็เข้าได้อยู่ดีครับ
การดูแลคร่าวๆก็มีประมาณนี้ครับ ล่าสุดผมไปลุยฝนบนภูเขาที่ฮ่องกงมา แค่ทำตามไม่กี่ข้อข้างบนนี้ก็พอเพียงสำหรับการดูแลกล้องในหน้าฝนแบบทริปเที่ยวระยะสั้นๆแล้วครับ บทความถัดๆไปเราจะมาดูวิธีการใช้งานการดูแลรักษากล้อง เมื่ออยู่ในที่ๆมีอุณหภูมิหนาวจัดกันบ้างครับ